การค้าระหว่างประเทศ มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนกับการค้าภายในประเทศอยู่หลายประการ เช่น ผู้ซื้อกับผู้ขายอยู่ห่างไกลกัน คือ อยู่กันคนละประเทศ ดังนั้น การติดต่อกันจึงไม่สะดวกเหมือนกับการค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในประเทศเดียวกัน หรือในเมืองเดียวกัน ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี การปฏิบัติทางการค้าของทั้งสองฝ่ายแตกต่างกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจกันอาจมีน้อยในระยะแรกๆ นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคอื่นๆ เช่น ต้องมีการส่งสินค้าข้ามเขตแดนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง การบรรจุสินค้า และจัดหาพาหนะที่บรรทุกสินค้าต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับการโอนเงินข้ามประเทศ เป็นต้น
 
 
  เมื่อผู้ซื้อและผู้ขายได้มีการตกลงเกี่ยวกับข้อสัญญาซื้อขายกันแล้ว กล่าวคือ ได้มีการตกลงเรื่องคุณภาพและปริมาณสินค้า ราคา กำหนดเวลา สถานที่ส่งมอบสินค้า และเงื่อนไขการชำระเงิน ฯลฯ ผู้ขายก็มีหน้าที่ต้องส่งสินค้าตามที่ตกลง ส่วนผู้ซื้อนั้นมีหน้าที่จะต้องชำระเงินค่าสินค้าที่ซื้อตามสัญญา วิธีการชำระเงินค่าสินค้าที่พบเห็นกันบ่อยในการค้าระหว่างประเทศมี 4 วิธี ได้แก่

 
 
  1. การชำระเงินค่าสินค้าโดยตรงด้วยการโอนเงิน Telegraphic Transfer (T/T) : ผู้ซื้อ ผู้ขายตกลงกันเองว่าจะชำระเงินก่อนหรือหลังการส่งออก หรือบางทีอาจชำระบางส่วนก่อน พอผู้ซื้อได้รับสินค้าก็จะมาชำระส่วนที่เหลือตามมา ผู้ขายส่งเอกสาร (ตั๋ว) ให้กับผู้ซื้อ หากจะใช้เทอมนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายต้องเป็นทำธุรกิจร่วมกันมานาน เพราะใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นพื้นฐานในการรับประกัน ต้นทุนต่ำ ความเสี่ยงสูง
 
 
  2. การชำระเงินค่าสินค้าโดยผ่านธนาคาร : ในธุรกิจระหว่างประเทศการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูง คือ ชำระเงินผ่านธนาคาร ซึ่งมี 2 ประเภท ดังนี้
 
 
  2.1 การชำระเงินด้วย Letter of credit (L/C) : เป็นการชำระค่าสินค้าผ่านธนาคารวิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเป็นวิธีเดียวที่พอจะมีหลักประกันได้ว่า ผู้ขายสินค้าจะได้รับเงินค่าสินค้าเมื่อได้มอบสินค้าลงเรือ และผู้ซื้อจะได้รับสินค้าเมื่อจ่ายเงินแล้ว Letter Of Credit
ที่ใช้ในทางธุรกิจอยู่ขณะนี้สามารถแยกออกเป็น 2 จำพวกใหญ่ๆ คือ
 
 
  2.1.1 Letter of Credit เพื่อการซื้อขายสินค้าที่ต้องมีเอกสารประกอบ (Commercial Documentary L/C) ซึ่งมีทั้ง L/C ที่ใช้ภายในประเทศ (Domestic L/C) และต่างประเทศ L/C ทางการค้าเป็น L/C ที่ผู้ซื้อเป็นผู้ยืนคำขอเปิดกับธนาคารของตน เพื่อให้ออกไปรับรองต่อผู้ขายว่า ถ้าผู้ขายส่งสินค้าและแสดงเอกสารได้ถูกต้องตามข้อตกลงและเงื่อนไขใน L/C แล้ว ธนาคารก็จะชำระเงินให้ ทั้งนี้ L/C ทางการค้าสามารถแยกย่อยได้ 2 ประเภท คือ
 
L/C ประเภทเพิกถอนได้ (Revocable) ถูกนำมาใช้ในทางการค้าบ้าง แต่มักจะเป็นระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งเป็นบริษัทที่รู้จักกันดีมากๆ หรือเป็นบริษัทในเครือเดียวกันเท่านั้น L/C ประเภทเพิกถอนได้ที่ธนาคารผู้เปิด L/C อาจจะแก้ไขหรือยกเลิกเสียเมื่อใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้รับประโยชน์ L/C ทราบล่วงหน้า แต่หากผู้รับประโยชน์ได้ยื่นเอกสารครบถ้วน ถูกต้องตามเทอมและเงื่อนไขใน L/C ให้กับ Negotiating Bank (ธนาคารของผู้ขาย) ก่อนที่จะได้รับการแจ้งการแก้ไขหรือยกเลิก ธนาคารผู้เปิด L/C ต้องรับผิดชอบชำระเงินตาม L/C จะยกเลิกหรือแก้ไขใดๆ ใน L/C ไม่ได้
 
L/C ประเภทเพิกถอนไม่ได้ (Irrevocable) ส่วนมากในวงการค้ามักใช้ L/C ประเภทนี้ เพราะสามารถให้ความมั่นใจกับผู้รับประโยชน์ ว่าจะไม่มีการแก้ไขหรือยกเลิก โดยธนาคารที่ออก L/C โดยพลการ ผู้ส่งออกหรือผู้รับประโยชน์ตาม L/C สามารถมั่นใจได้ว่า เมื่อได้รับ L/C ประเภทเพิกถอนไม่ได้แล้ว ในระหว่างเตรียมการส่งสินค้าออกและเตรียมเอกสารไปเรียกเก็บธนาคารผู้เปิด L/C ไม่สามารถที่จะยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงข้อความใดๆใน L/C และถ้ายื่นเอกสารครบถ้วนถูกต้องตามเทอมและเงื่อนไขใน L/C ธนาคารผู้เปิด L/C จะปฏิเสธการชำระไม่ได้
 
 
  2.1.2 Letter of Credit เพื่อการค้ำประกัน (Stand-By L/C) เป็น L/C ที่นำมาใช้เพื่อการค้ำประกันสัญญาซื้อ–ขาย โดยมีลักษณะการใช้งานเหมือน Letter of Guarantee รวมทั้งใช้ค้ำประกันทางการเงินต่างๆ

 
 
  2.2 การชำระเงินโดยวิธีเรียกเก็บผ่านธนาคาร (Bill of Collection) คือ การเรียกเก็บเงินค่าสินค้าผ่านธนาคาร ซึ่งธนาคารผู้เรียกเก็บจะปฏิบัติตามคำสั่งของลูกค้าอย่างเคร่งครัด ซึ่งแบ่งได้ ดังนี้
 
 
  2.2.1 D/P (Document Against Payment) คือ การที่ผู้ขายสินค้าส่งเอกสารไปเรียกเก็บเงินค่าสินค้าที่ตนเองส่งออกไปให้แก่ผู้ซื้อ ผ่านธนาคารของผู้ขายไปยังธนาคารตัวแทนของผู้ซื้อ เพื่อเรียกเก็บค่าสินค้าก่อนการส่งมอบเอกสาร ซึ่งมี 2 เงื่อนไขในการ เรียกเก็บ คือ D/P Sight และ D/P Term
 
D/P Sight คือ คำสั่งที่ให้เรียกเก็บเงินทันทีก่อนส่งมอบเอกสารให้ผู้นำเข้าไปรับสินค้า ในทางปฏิบัติ เมื่อธนาคารในประเทศนำเข้าได้รับเอกสารเรียกเก็บโดยมีเงื่อนไขเป็น D/P Sight จากธนาคารผู้ส่งออกเรียกเก็บ (Remitting Bank) ในประเทศผู้ส่งออก ธนาคารจะแจ้งผู้นำเข้าทราบ เมื่อผู้นำเข้าต้องการมารับเอกสาร เพื่อไปขอรับสินค้าจากตัวแทนบริษัทเรือที่ท่าเรือ หรือท่าอากาศยานกรณีมาทางเครื่องบิน ผู้นำเข้าต้องชำระเงินค่าสินค้าตามมูลค่าที่เรียกเก็บในตั๋วเงิน (Draft) พร้อมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ (ถ้ามี) หากธนาคารมอบเอกสารให้ผู้นำเข้า โดยมาเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากผู้นำเข้าธนาคารต้องรับผิดชอบ เมื่อเรียกเก็บเงินได้ ธนาคารต้องโอนไปให้ผู้ส่งออกผ่านธนาคารตัวแทนที่ส่งเอกสารมาเรียกเก็บโดยไม่ชักช้า
 
D/P Term คือ คำสั่งที่ให้เรียกเก็บเงินตามกำหนดเวลาที่ผู้ส่งออกกำหนดให้ โดยที่ผู้ส่งออกยังยึดถือสิทธิการครอบครองสินค้า ในทางปฏิบัติ เมื่อธนาคารในประเทศผู้นำเข้าได้รับเอกสารเรียกเก็บโดยมีเงื่อนไข D/P Term (เทอมการชำระเงิน 30,60,120 วัน จากวันที่ส่งสินค้าลงเรือ ฯลฯ) จากธนาคารในประเทศผู้ส่งออก ธนาคารจะแจ้งให้ผู้นำเข้าทราบ โดยเงื่อนไข D/P Term ผู้นำเข้าแม้จะได้รับรองตั๋วแล้วก็ตาม ก็ไม่อาจได้มาซึ่งสิทธิในการครอบครองสินค้า เพราะคำสั่งนั้น ชัดเจนว่าการจะรับเอกสารได้ ต้องชำระเงินก่อน ดังนั้นหากผู้นำเข้าต้องการได้สิทธิครอบครองสินค้า อาจต้องขอความช่วยเหลือจากธนาคาร โดยขอให้ธนาคารมอบสิทธิการครอบครองสินค้าให้แก่ตนก่อนและตกลงว่า จะชำระเงินให้เมื่อครบกำหนด  
 
  2.2.2 D/A (Document Against Acceptance) คือ คำสั่งที่ให้เรียกเก็บเงินตามกำหนดเวลาที่ผู้ส่งออกกำหนดให้ โดยมอบสิทธิการครอบครองสินค้าให้ผู้นำเข้า ในทางปฏิบัติ เมื่อธนาคารในประเทศผู้นำเข้าได้รับเอกสารเรียกเก็บเงิน โดยมีเงื่อนไข D/A และมีเทอมการชำระเงินกำกับ (30,60,180 วัน) ธนาคารจะแจ้งผู้นำเข้าและให้ผู้นำเข้าลงนามรับรองในตั๋ว (Accept Draft) และส่งตั๋วที่รับรองแล้วนั้นคืนให้กับธนาคาร ธนาคารก็จะมอบเอกสารพร้อมทั้งโอนสิทธิการครอบครองสินค้าให้ผู้นำเข้าไปรับสินค้า เมื่อถึงวันครบกำหนดชำระเงิน ธนาคารจะเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากผู้นำเข้า แล้วโอนเงินชำระให้ผู้ส่งออกผ่านธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บ (Remitting Bank) หากผู้นำเข้าไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าได้ ธนาคารก็เพียงแจ้งให้ธนาคารผู้ส่งออกเรียกเก็บทราบ โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
 
 
  2.3 การชำระเงินแบบ Open Account คือ การที่ผู้ขายสินค้าและผู้ซื้อสินค้าตกลงซื้อขายสินค้ากันโดยตรง โดยที่ผู้ขายสินค้าจะส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อก่อน เมื่อผู้ซื้อรับสินค้าแล้ว จึงไปติดต่อกับธนาคาร เพื่อโอนเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายตามระยะเวลาที่กำหนด หลังจากที่ได้รับสินค้าหรือเห็นเอกสารตามแต่จะตกลงกันแล้ว ซึ่งจะเป็นการโอนโดยทางตั๋วเงินหรือดราฟต์ การซื้อขายด้วยวิธีนี้ ผู้ขายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะไม่มีหลักประกันว่าผู้ซื้อจะชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขาย ธนาคารจะเข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อมีการโอนเงินค่าสินค้าเท่านั้น
 
 
  2.4 การชำระเงินแบบ Consignment คือ การที่ผู้ขายสินค้าและผู้ซื้อสินค้าตกลงซื้อขายสินค้ากันโดยตรง โดยที่ผู้ขายสินค้าจะส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อก่อน เมื่อผู้ซื้อขายสินค้าได้แล้ว จึงไปติดต่อธนาคารเพื่อโอนเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขาย ซึ่งเป็นการโอนเงินโดยทางตั๋วเงิน หรือดราฟต์ การชำระเงินประเภทนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การฝากขาย แต่ผู้ขายเป็นฝ่ายเสียเปรียบเช่นเดียวกับ Open Account เพราะไม่มีหลักประกันว่า ผู้ซื้อจะชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขาย ธนาคารจะเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อมีการโอนเงินค่าสินค้าเท่านั้น
 
Steklean Tailiang Chemical Piyasiri Wanit Kongsawan Chemical

หน้าหลัก | พิธีการศุลกากร | คลังสินค้า | แท็งค์ของเหลว | รถบรรทุก | ค่าระวาง | เคาน์เตอร์ เซอร์วิส | ท่าเรือ | เกี่ยวกับเรา | สมัครงาน | ติดต่อเรา | ถาม-ตอบ

กลุ่มบริษัทในเครือ : สเตคลีน | ไต๋เหลียง เคมีภัณฑ์ | ปิยะศิริวานิช | คงสวรรณ เคมีภัณฑ์