กฎหมายที่ให้สิทธิประโยชน์แก่การส่งออก ได้แก่
 
กฎหมายชดเชยภาษีอากร
 
กฎหมายศุลกากร (การคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ, คลังสินค้าทัณฑ์บน, เขตปลอดอากร Free Zone)  
กฎหมายนิคมอุตสาหกรรม  
กฎหมายส่งเสริมการลงทุน  
 
 
สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรเพื่อการส่งออก เป็นนโยบายสำคัญของทุกรัฐบาลในอันที่จะสนับสนุนกิจกรรมของการส่งออกของผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศ ให้มีต้นทุนการผลิตสินค้าที่ต่ำ เพื่อการกำหนดราคาสินค้าที่เหมาะสมกับการแข่งขันในตลาดการค้าระหว่างประเทศ ผู้ส่งออกควรทราบถึงสิทธิประโยชน์ ระเบียบพิธีการทางศุลกากรดังกล่าวที่มีอยู่ตามกฎหมาย และเลือกใช้สิทธิประโยชน์ในมาตรการต่างๆ ให้เหมาะสมกับบริษัทที่ทำให้เกิดประโยชน์กับตนเองสูงสุด
 
 
  ความหมายที่สำคัญในการชดเชยค่าภาษีอากร ได้แก่
 
สินค้า หมายถึง สินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร
ผลิต หมายถึง ประกอบ แปรรูป แปรสภาพ หรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้า
เงินชดเชย หมายถึง เงินที่จะจ่ายชดเชยค่าภาษีอากร ซึ่งมีอยู่ในต้นทุนการผลิตสินค้าส่งออกให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชย ในรูปของบัตรภาษีตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2524
อัตราเงินชดเชยค่าภาษีอากร หมายถึง อัตราเงินชดเชยสำหรับชนิด และประเภทสินค้าที่จะได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามที่คณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผู้มีสิทธิได้รับชดเชยค่าภาษีอากร หมายถึง ผู้ทำการส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือการขายสินค้าภายในประเทศให้แก่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามโครงการเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และการขายสินค้าให้แก่องค์การระหว่างประเทศหรือหน่วยงานที่มีสิทธินำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยได้รับการยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
 
  การคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 เป็นการคืนค่าภาระภาษีอากร สำหรับวัตถุดิบที่นำเข้า ได้แก่ อากรขาเข้า ค่าธรรมเนียมภาษีอื่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทยที่ผู้นำของเข้าได้เสียหรือวางประกันไว้ขณะนำเข้า เมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้นำวัตถุดิบนั้นไปผลิต ผสม ประกอบ หรือบรรจุเป็นสินค้าส่งออก แล้วก็จะได้รับการคืนอากรโดยจะคำนวณค่าภาษีอากรที่คืนให้ตามสูตรการผลิต ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องผลิตส่งออกภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้นำเข้าและต้องขอคืนเงิน อากรภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งของนั้นออกไป
 
 
  ของที่ได้รับคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ ได้แก่
 
วัตถุดิบที่เห็นได้ชัดว่ามีอยู่ในของที่ผลิตเพื่อส่งออก
 
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโดยตรงที่มีอยู่ในของที่ผลิตส่งออก แต่ไม่ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน  
วัตถุดิบจำเป็นที่ใช้ในการผลิต  
 
  ของที่ไม่ได้รับคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ ได้แก่
 
เครื่องจักร เครื่องมือ แม่พิมพ์ เครื่องใช้ในการผลิตชนิดต่าง ๆ
 
เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิต  
 
 
เขตประกอบการเสรี (Free Trade Zone) : พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 จัดตั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมมีชื่อย่อว่า “กนอ.” มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งหลายประการ โดยเริ่มจากการจัดหาที่ดินที่เหมาะสม เพื่อจัดตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรม หรือเพื่อดำเนินธุรกิจอื่นที่จะเป็นประโยชน์ดำเนินการปรับปรุงที่ดิน เพื่อให้บริการตลอดจนจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานรวมทั้งสาธารณูปโภคต่างๆ ให้แก่ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ พื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไป พื้นที่เขตอุตสาหกรรมส่งออก
 
 
 
การส่งเสริมการลงทุน (BOI) : การส่งเสริมการลงทุนเป็นมาตรการหนึ่งในหลายมาตรการในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยมีหน่วยงานหลักที่ดูแลรับผิดชอบด้านการส่งเสริมการลงทุน คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากรแก่ผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมการลงทุนกรมศุลกากร ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลและรับผิดชอบในเรื่องภาษีอากรของรัฐ และเพื่อการส่งเสริมการส่งออกแก่ผู้ประกอบการจึงต้องกำหนดระเบียบปฏิบัติสำหรับการปฏิบัติในการนำเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้
ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้านภาษี อากรขาเข้า รวมไปถึงควบคุมดูแล อำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากร
 
 
 
คลังสินค้าทัณฑ์บน เป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ส่งออกตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของคลังสินค้าทัณฑ์บนตามมาตรา 8 และ 8 ทวิแห่งกฎหมายศุลกากร พ.ศ.2469 โดยงดเว้นการเก็บอากรขาเข้าและขาออกแก่ของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศและเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อส่งออกไปยังนอกประเทศ ทั้งนี้ไม่ว่าจะส่งออกในสภาพเดิมเหมือนและที่นำเข้าหรือในสภาพที่ได้ผลิต ผสมหรือประกอบเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ คลังสินค้าทัณฑ์บนที่กรมศุลกากรประกาศกำหนดให้มีการจัดตั้งเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรมี 7 ประเภท ดังนี้
 
คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า
 
คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป  
คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร  
คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปสำหรับจัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ (คสท.)  
คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปสำหรับเก็บน้ำมัน (คสน.)  
คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับอู่ซ่อมและสร้างเรือ  
เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับประกอบการค้าเสรีที่ปลอดจากภาระทางภาษีอากร  
 
 

เขตปลอดอากร (Free Zone) หมายถึง เขตพื้นที่ที่กำหนดไว้สำหรับการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ โดยของที่นำเข้าไปในเขตดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ ทางอากรตามที่กฎหมายบัญญัติสิทธิประโยชน์

1. ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อนำเข้าในเขตปลอดอากรในกรณี ดังต่อไปนี้

 
ของที่เป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือและเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบของของดังกล่าวที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศตามที่อธิบดีอนุมัติ
 
ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตปลอดอากร สำหรับใช้ในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ
 
ของที่ปล่อยออกมาจากเขตปลอดอากรอื่น  
 

2. ยกเว้นอากรขาออก สำหรับของที่ปล่อยไปจากเขตปลอดอากร เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร

3. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการนำสินค้าจากต่างประเทศเข้าไปในเขตปลอดอากร

 
Steklean Tailiang Chemical Piyasiri Wanit Kongsawan Chemical

หน้าหลัก | พิธีการศุลกากร | คลังสินค้า | แท็งค์ของเหลว | รถบรรทุก | ค่าระวาง | เคาน์เตอร์ เซอร์วิส | ท่าเรือ | เกี่ยวกับเรา | สมัครงาน | ติดต่อเรา | ถาม-ตอบ

กลุ่มบริษัทในเครือ : สเตคลีน | ไต๋เหลียง เคมีภัณฑ์ | ปิยะศิริวานิช | คงสวรรณ เคมีภัณฑ์